top of page

BLOG POST

Search

เบ้าอ่อนชนิดเจลสำหรับผู้พิการตัดขา เเละคำถามที่ว่า“เบ้าอ่อนชนิดเจลไม่เหมาะกับเมืองร้อนจริงหรือ?”

Updated: Oct 11, 2021

มารู้จักส่วนประกอบของขาเทียมกันค่ะ

สวัสดีค่ะทุกท่านวันนี้จะมาพูดถึงเบ้าอ่อนชนิดเจลกันค่ะ ก่อนที่เราจะอธิบายถึงเรื่องเบ้าอ่อน สิ่งที่เราจะต้องทราบก่อนเป็นอันดับเเรก คือส่วนประกอบของขาเทียมโดยทั่วไปแล้วส่วนประกอบของขาเทียมนั้นจะประกอบด้วย เบ้าอ่อน โดยเบ้าอ่อนจะเป็นส่วนเเรกที่สัมผัสกับตอขาผู้ป่วย เเละถัดจากเบ้าอ่อนผู้ป่วยจะต้องใส่เบ้าเเข็ง หน้าที่หลักๆของเบ้าเเข็งนั้นจะมีหน้าที่เป็นโครงร่างรับน้ำหนักผู้ป่วย โดยทั่วไปจะทำมาจากวัสดุให้ความเเข็ง เช่น เรซิ่น คาร์บอนไฟเบอร์ เเละจากนั้นจะต่อด้วยข้อเข่าเทียมเเละเท้าเทียมในผู้ป่วยที่ตัดขาเหนือเข่าเเละในผู้ป่วยที่ตัดขาใต้เข่าจะต่อเฉพาะส่วนของเท้าเทียมค่ะ

เบ้าอ่อนชนิดเจล

ภาพที่ 1 : ภาพเเสดงส่วนประกอบของขาเทียมระดับใต้เข่า

ขอบคุณภาพจาก : https://www.mountnittany.org/articles/healthsheets/4818


เบ้าอ่อนมีหน้าที่อะไร?

โดยปกติเบ้าอ่อนจะมีจุดประสงค์หลักๆคือ ช่วยรับเเรงกระเเทกเวลาที่ผู้ป่วยยืนหรือเดิน หรือกระจายเเรงให้ทั่วทั้งตอขาในขณะที่ผู้ป่วยสวมใส่ เบ้าอ่อนบางชนิดก็สามารถทำหน้าที่เป็นตัวยึดขาเทียมไว้กับต่อขาได้ โดยเบ้าอ่อนนั้นจะมีลักษณะอ่อนนุ่ม วัสดุที่ใช้ทำเบ้าอ่อนนั้นมีหลายชนิดด้วยกัน อาทิเช่น โฟมอีวีเอ (EVA) โฟมพีไลท์ (Pe-liteTM) เจลชนิดซิลิโคน (Silicone liner) เจลชนิดโพลียูลีเทรน (Polyurethane liner) เป็นต้น เบ้าอ่อนที่เป็นที่เเพร่หลายในประเทศไทยในปัจจุบันจะเป็นเบ้าอ่อนที่ทำมาจากวัสดุชนิดโฟมพีไลท์ (Pe-liteTM) ซึ่งลักษณะเด่นของวัสดุชนิดนี้คือ มีความทนทาน ราคาไม่เเพง เเต่มีความอ่อนนุ่มไม่เท่ากับวัสดุชนิดอื่นๆ เเละระบบการยึดตอขากับขาเทียมนั้นใช้ได้เฉพาะเเบบที่ล็อคบริเวณเหนือกระดูกเข่า เเละแบบสายรัด


เบ้าอ่อน

ภาพที่ 2 : เบ้าอ่อนแบบโฟมพีไลท์ (Pe-liteTM)


เบ้าอ่อนชนิดเจล

หากพูดถึงเบ้าอ่อนชนิดเจลเเล้ว ผู้พิการหลายคนในประเทศไทยอาจจะรู้จักเเละได้มีประสบการณ์การใช้งานมาบ้างเเล้ว เบ้าอ่อนชนิดเจลนั้นจะช่วยกระจายเเรงกระเเทกระหว่างที่ผู้ป่วยเดิน โดยอาศัยคุณลักษณะของวัสดุเอง เเละรูปแบบของชนิดของเบ้าเเข็งที่ใช้ ในผู้ป่วยที่ตัดขาใหม่ ตอขาจะมีอาการบวมในระยะเเรก การใช่เบ้าอ่อนชนิดเจลสามารถช่วยให้อาการบวมลดลงจนขนาดของตอขาคงที่ เบ้าอ่อนชนิดเจลมีหลายเเบบหลายชนิดอย่างที่กล่าวไปแล้วเบื้องต้น ทั้งนี้ถ้าเเบ่งตามวัสดุเบ้าอ่อนชนิดเจลเเล้วจะเเบ่งได้ 3 ชนิดหลักๆ นั้นก็คือเจลชนิดซิลิโคน (Silicone liner) เจลชนิดโพลียูลีเทรน (Polyurethane liner) เจลชนิดโคโพลิเมอร์ (Copolymer liner) เบ้าอ่อนชนิดเจลนั้นจะมาพร้อมกับระบบยึดขาเทียมกับตอขาที่ทันสมัยมากขึ้น อาทิเช่น ระบบยึดเเบบเดือยหรือน๊อตล็อก หรือระบบยึดเเบบสูญญากาศ โดยการพิจารณาว่าผู้ป่วยเเต่ละท่านนั้นเหมาะกับระบบยึดต่อขาหรือเบ้าอ่อนเจลชนิดใดนั้น นักกายอุปกรณ์จะเป็นผู้พิจารณา


เบ้าอ่อนชนิดเจล

ภาพที่ 3 : เบ้าอ่อนชนิดเจลต่างๆ


ใส่เบ้าอ่อนชนิดเจลไม่เหมาะกับเมืองร้อนอย่างเมืองไทยจริงหรือ?


SEA

ขอบคุณภาพจาก: www.wallpaperdisk.com


จากความเชื่อเดิมที่เราอาจจะเคยได้ยินว่า เบ้าอ่อนชนิดเจลนั้นไม่เหมาะกับเมืองร้อนอย่างประเทศไทยเพราะใส่เบ้าอ่อนไปจะทำให้เกิดเหงื่อมากขึ้น ทำให้เกิดการระคายเคือง เเต่ความเป็นจริงคือการใส่เบ้าอ่อนหรือวัสดุอะไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นโฟมพีไลท์ (Pe-lite) หรือเบ้าอ่อนชนิดเจลที่ห่อหุ้มตอขาไว้เป็นเวลานานนั้น ในระยะเเรก (ประมาณ 1-3 เดือนเเรกระยะเวลาขึ้นอยู่กับผู้ป่วยเเต่ละราย) ตอขาจะมีเหงื่อมากกว่าปกติอยู่เเล้วเนื่องด้วยผิวหนังเรากำลังปรับตัวให้เข้าการสวมใส่สิ่งใหม่ๆ หลังจากนั้นเหงื่อจะค่อยๆลดลงจนเป็นปกติในที่สุด ในเบ้าอ่อนชนิดเจลซิลิโคนอาจจะทำให้ผู้ป่วยระคายเคืองในช่วงเเรกเนื่องจากวัสดุซิลิโคนจะมีคุณสมบัติในการยึดเกาะผิวหนังมากกว่าวัสดุชนิดอื่นๆ นักกายอุปกรณ์จะเเนะนำให้ผู้ป่วยทาครีมที่ให้ความชุ่มชื่นก่อนใส่เบ้าอ่อนชนิดเจลก่อนเสมอ ดังนั้นผู้ป่วยส่วนมากในเมืองร้อนสามารถใช้เบ้าอ่อนชนิดเจลได้เเต่ต้องอยู่ใต้คำเเนะนำของนักกายอุปกรณ์

 
 
 

Comments


bottom of page